ตำนานเรื่องเล่าของพญาครุฑกับพญานาคนั้น มีมานมนานตั้งแต่สมัยโบราณ โดยความเชื่อเรื่องครุฑนาคนี้ มีอิทธิพลมาจากศาสนาพราหมณ์ฮินดูและศาสนาพุทธ โดยต่างเชื่อว่าครุฑกับนาคเป็นศัตรูกัน และครุฑก็จะจับนาคกินเป็นอาหารอยู่ร่ำไป
ตามความเชื่อของศาสนาฮินดูได้ระบุไว้ว่า พญาครุฑนั้นเป็นอมตะ ไม่มีใครสามารถทำลายได้ และยังขอพรให้ตนนั้นสามารถกินพญานาคเป็นอาหารได้ แต่ตามความเชื่อทางพระพุทธศาสนาแล้ว ไม่ใช่นาคทุกตัวที่ครุฑสามารถกินได้ ยังมีนาคอีก 7 จำพวก ที่ครุฑต้องละเว้นไม่สามารถทำร้าย หรือจับกินเป็นอาหารได้
ในวันนี้เราได้นำความรู้จากพระไตรปิฎก หมวด อรรถกถา สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค สุปัณณสังยุต หรติสูตรที่ ๒ ว่ามีนาคจำพวกใดบ้าง ที่ครุฑไม่สามารถจับกินได้ เรื่องราวจะเป็นอย่างไร เชิญอ่านกันเลยครับ
ว่ากันว่า มีพญานาคอยู่ 7 จำพวก ที่พญาครุฑไม่สามารถทำร้าย หรือเฉี่ยวเอาไปเป็นอาหารได้ นั่นก็คือ...
๑.พญานาคที่มีชาติกำเนิดสูงหรือประณีตกว่าพญาครุฑ
โดยตามความเชื่อสมัยโบราณแล้ว เชื่อว่า กำเนิดของพญาครุฑและพญานาค มีอยู่ด้วยกัน ๔ รูปแบบ นั่นก็คือ
๑. อัณฑชะ คือ เกิดในไข่ เป็นการเกิดแบบสัตว์เลื้อยคลาน หรือสัตว์ปีกทั่วไป เช่น งู นก เป็ด ไก่ เป็นต้น
๒. ชลาพุชะ คือ เกิดในครรภ์ เป็นการเกิดแบบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น มนุษย์ วัว ควาย เป็นต้น
๓. สังเสทชะ คือ เกิดในเหงื่อไคล หรือสิ่งหมักหมม เป็นการเกิดแบบสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง เช่น หนอนในปลาเน่า ตัวมอดในข้าวสาร เป็นต้น
๔. โอปะปาติกะ คือ เกิดแล้วโตทันที โดยไม่ได้อาศัยครรภ์มารดาในการเกิด เป็นการเกิดของสัตว์นรก อสูรกาย สัตว์เดรัจฉานบางจำพวก และเทวดานางฟ้าต่างๆ
การกำเนิดโดย “โอปะปาติกะ” ถือเป็นชาติกำเนิดสูงสุดสำหรับครุฑและนาค รองลงมาคือ การเกิดโดยสังเสทชะ, ชลาพุชะ, และอัณฑชะ ตามลำดับ แต่ครุฑที่จะอยู่เหนือนาคได้ นั่นก็คือ ครุฑที่ีมีชาติกำเนิดเท่าเทียมกับนาคและครุฑที่มีชาติกำเนิดสูงกว่านาคนั่นเอง แต่ถ้านาคที่มีชาติกำเนิดสูงกว่าครุฑ ครุฑก็ไม่อาจทำร้าย หรือจับนาคกินเป็นอาหารได้ ยกเว้นแต่ครุฑที่มีชาติกำเนิด แบบโอปะปาติกะ จะสามารถโฉบเฉี่ยวนาคในระดับเดียวกันและต่ำกว่าไปได้ทั้งหมด
๒. นาคกัมพลอัสสดร เป็นพญานาคระดับเสนาบดี ที่มีแหล่งอาศัยอยู่เชิงเขาสิเนรุ แม้ว่าพญาครุฑจะเห็นพญานาคกัมพลอัสสดรในที่ใดก็ตาม ก็ไม่สามารถโฉบเฉี่ยวเอาไปได้ เพราะถือเป็นพญานาคชั้นผู้ใหญ่ ที่มีคุณงามความดีนั่นเอง
ขุนเขาสิเนรุ สูงถึง ๑๖๘,๐๐๐ โยชน์ จมอยู่ใน มหาสมุทรสีทันดร ครึ่งหนึ่ง พื้นดินยอดเขาประกอบด้วย รัตนะ ตามไหล่เขา ๔ ด้าน
ด้านตะวันออกเป็น เงิน
ด้านตะวันตก เป็น แก้วผลึก
ด้านใต้ เป็นแก้ว มรกต
ด้านเหนือเป็น ทอง
กลางเขาสิเนรุ เป็นที่ตั้งของสวรรค์ชั้น จาตุมหาราชิกา รอบเขาทั้ง ๔ ทิศ เป็นที่สถิตของท้าวมหาราชจตุโลกบาลทั้ง ๔ นั่นก็คือ
ท้าวธตรฐ ประจำอยู่ทิศตะวันออก ทำหน้าที่ปกครองเหล่าคนธรรพ์
ท้าววิรุฬหก ประจำอยู่ทิศใต้ ทำหน้าที่ปกครองเหล่าพญาครุฑและกุมภัณฑ์
ท้าววิรูปักข์ ประจำอยู่ทิศตะวันตก ทำหน้าที่ปกครองเหล่าพญานาค
ท้าวกุเวร หรือ ท้าวเวสสุวรรณ ประจำอยู่ทิศเหนือ ทำหน้าที่ปกครองเหล่ายักษ์
ตอนกลางของภูเขาสิเนรุ ลงมาจนถึงตอนใต้พื้นมหาสมุทร เป็นที่อยู่อาศัยของเหล่า พญานาค พญาครุฑ กุมภัณฑ์ ยักษ์ และเทวดา
๓. นาคธตรฐ เป็นพญานาคราชา หรือพญานาคในชั้นปกครอง ที่ปกครองแว่นแคว้น นครบาดาลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพญาครุฑตนใด ก็ไม่สามารถโฉบเฉี่ยวเอาไปได้ เพราะถือเป็นการคงไว้ซึ่งเกียรติ และศักดิ์ศรีของพญานาคราชนั้นๆ
๔.นาคที่อาศัยอยู่ในมหาสมุทรสัตตสีทันดร เพราะความลึกของน้ำในหาสมุทร ทำให้ครุฑไม่สามารถโฉบเฉี่ยวเอานาคไปเป็นอาหารได้
มหาสมุทรสีทันดรนั้น กั้นอยู่ระหว่างเทือกเขาทั้ง 7 ที่แวดล้อมเขาสิเนรุเอาไว้ ระหว่างเทือกเขาแต่ละเทือก มีมหาสมุทรคั่นอยู่ รวมแล้ว ๗ มหาสมุทร เรียกว่า สัตตสีทันดรมหาสมุทร หรือมหาสมุทรสีทันดร ซึ่งมีความลึกมากเหลือประมาณ ทั้งยังมีน้ำที่สุขุมละเอียดยิ่งนัก ถึงกับทำให้ทุกๆ สิ่งแม้เบาที่สุด เมื่อตกลงก็จมทันที การจะข้ามมหาสมุทรสีทันดร ไปได้ ต้องอาศัยการบินข้าม หรือเหาะข้าม เท่านั้น ไม่สามารถข้ามได้ด้วยเรือ เพราะไม่มีอะไรลอยอยู่บนน้ำของมหาสมุทรสีทันดรได้ ดังนั้น จึงไม่มีครุฑตนใดอาจหาญจับนาคที่มหาสมุทรนี้ไปกินได้
๕ .นาคที่อาศัยอยู่ตามแผ่นดิน มีโอกาสหาที่หลบซ่อนได้ง่าย เพราะถือเป็นถิ่นของนาคนั้นๆ ดังนั้นทำให้พญาครุฑไม่อาจโฉบเฉี่ยวเอาไปเป็นอาหารได้
๖.นาคที่อาศัยอยู่ตามภูเขา จะมีที่หลบซ่อนไม่ต่างไปจากนาคที่อาศัยอยู่ตามแผ่นดิน เพราะถือเป็นถิ่นของนาคนั้นๆ ทำให้พญาครุฑไม่อาจโฉบเฉี่ยวเอาไปเป็นอาหารได้
๗.นาคที่อาศัยอยู่ในวิมาน วิมานหรือที่อยู่ของนาคนั้นอยู่ค่อนข้างลึก ซับซ้อน และคดเคี้ยว ทำให้ยากแก่การค้นหา ทั้งยังถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติว่า การบุกรุกที่อยู่ผู้อื่นนั้นถือเป็นการไร้มารยาท ที่ทำให้พญาครุฑไม่สามารถโฉบเฉี่ยวเอานาคเหล่านั้นไปกินเป็นอาหารได้อีกเช่นกัน
ตามความเชื่อแล้ว นาค 7 จำพวกที่ได้กล่าวมานี้ ถือเป็นนาคที่ต้องละเว้น หรือครุฑไม่สามารถโฉบเอาไปเป็นอาหารได้ หากละเมิดหรือกระทำการล่วงเกินก็ถือว่าผิดธรรมเนียม ดังนั้นจึงได้มีการบันทึกไว้ในประไตรปิฎก และกล่าวขานกันต่อมา ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
บทความโดย : เพจ ตำนาน ความเชื่อ ลี้ลับ พญานาค https://www.facebook.com/NagaHistory/
ห้ามคัดลอกไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น