สระมุจลินท์ สระน้ำพญานาคแห่งพระธาตุบังพวน - Nagahora

Post Top Ad

Responsive Ads Here

วันศุกร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

สระมุจลินท์ สระน้ำพญานาคแห่งพระธาตุบังพวน

ถ้ากล่าวถึงดินแดนแห่งพญานาค ที่แรกที่หลายท่านนึกถึง คงหนีไม่พ้นจังหวัดหนองคาย ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นจังหวัดที่เป็นเมืองน่าอยู่ และเต็มไปด้วยตำนานลี้ลับของพญานาค

ทุกปีๆช่วงคืนวันออกพรรษา ในแม่น้ำโขงฝั่งจังหวัดหนองคาย โดยเฉพาะที่ อำเภอโพนพิสัย จะมีปรากฏการณ์ “บั้งไฟพญานาค” ซึ่งเป็นลูกไฟประหลาดพวยพุ่งขึ้นมาจากใต้น้ำ

บ้างก็ว่าบั้งไฟพญานาค เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ บ้างก็ว่าเกิดจากน้ำมือมนุษย์ และบ้างก็เชื่อว่าเกิดจากการกระทำของพญานาค เพราะจังหวัดหนองคายได้ชื่อว่าเป็น“เมืองพญานาค” นั่นเอง

นอกจากบั้งไฟพญานาคแล้ว ในจังหวัดหนองคาย ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับพญานาคอีกหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ความเชื่อว่า มีเมืองมีวังพญานาคอยู่ที่นี่ มีถ้ำประหลาดที่เชื่อกันว่าเป็นถ้ำพญานาค มีคนเคยเห็นสัตว์ตัวยาวในแม่น้ำโขงที่เชื่อกันว่าเป็นพญานาค มีร่องรอยที่ชาวบ้านเชื่อกันว่าเป็นรอยพญานาค มีวัดที่เกี่ยวพันกับพญานาค รวมไปถึงมีพระธาตุที่มีความเกี่ยวโยงกับพญานาค อย่าง “พระธาตุบังพวน” ประดิษฐานอยู่อีกด้วย

พระธาตุบังพวน เป็นพระธาตุศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองหนองคาย ตั้งอยู่ในวัดพระธาตุบังพวน ต.พระธาตุบังพวน อ.เมือง ตามตำนานอุรังคธาตุกล่าวว่า ในสมัยพุทธกาลพื้นที่แห่งนี้คือ“ภูเขาลวง” ริมน้ำบางพวน เป็นที่อยู่อาศัยของเหล่าพญานาคทั้งหลาย

ครั้นเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับยังดินแดนแถบลุ่มน้ำโขง เหล่าพญานาคได้มาเข้าเฝ้าถวายสักการะพระพุทธองค์ ทำให้ดินแดนแห่งนี้ถูกยกให้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์นนับจากนั้นเป็นต้นมา

ต่อมาในสมัยของพระเจ้าจันทน์บุรี เจ้าผู้ครองนครเวียงจันทน์ ได้มีพระอรหันต์ 5 องค์ เดินทางไปยังเมืองราชคฤห์ ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุกระดูกหัวเหน่ากลับมา แล้วจึงสร้างพระธาตุขึ้นเพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่ภูลวงแห่งนี้

ส่วนอีกตำนานหนึ่ง เชื่อว่า หลังการก่อสร้างพระธาตุพนมเสร็จสิ้น เหล่าพระอรหันต์ 500 องค์ที่ทำการสร้างพระธาตุพนมได้เดินทางไปอินเดีย อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า นำมาประดิษฐานไว้ยังสถานที่ 4 แห่ง ในเมืองหนองคายและเมืองเวียงจันทน์ โดยหนึ่งในนั้นก็คือ พระธาตุบังพวนนั่นเอง

โดยที่มาของชื่อพระธาตุบังพวนนั้น ตามตำนานกล่าวว่า คำว่า“บังพวน” แผลงมาจากคำว่า“บังคน” (หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า“ขี้โผ่น”) ที่แปลว่ากระเพาะปัสสาวะ ซึ่งเชื่อว่าภายในพระธาตุองค์นี้ นอกจากจะมีพระบรมสารีริกธาตุส่วนกระดูกหัวเหน่าแล้วยังบรรจุพระบังคนหนักของพระพุทธเจ้าเอาไว้อีกด้วย

ในขณะที่หลักฐานทางโบราณคดีไม่สามารถระบุชัดเจนได้ว่าพระธาตุบังพวนสร้างขึ้นในสมัยใด แต่สันนิษฐานว่าอย่างน้อยน่าจะสร้างขั้นก่อนสมัยพระเจ้าโพธิสาลราช แห่งอาณาจักรล้านช้าง แล้วมีการบูรณะครั้งสำคัญในสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช โดยทำการก่อพระธาตุองค์ใหญ่ครอบพระธาตุองค์เดิมไว้ ซึ่งสันนิษฐานว่าพระธาตุองค์เดิมเป็นน่าจะสถูปแบบอินเดียโบราณ

จนกระทั่ง ปี พ.ศ. 2513 ได้เกิดภัยธรรมชาติ จนพระธาตุบังพวนได้พังทลายลงมา จากนั้นในปี พ.ศ. 2520 ทางกรมศิลปากร จึงได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระธาตุขึ้นมาใหม่ ตามแบบรูปทรงเดิม และจากนั้นจึงมีการจัดการเฉลิมฉลองสมโภชองค์พระธาตุ ในทุกวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปีเป็นต้นมา

ในวัดพระธาตุบังพวนนอกจากจะมีพระธาตุบังพวนเป็นศูนย์รวมจิตใจและเป็นเจดีย์ประธานแล้ว ยังมีสิ่งน่าสนใจอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น สถูปเจดีย์เก่าแก่ พระพุทธรูปโบราณศิลปะล้านช้างที่น่าสนใจอย่างยิ่ง โบสถ์โบราณที่เหลือเพียงซากอิฐก่อในระดับเอว รวมถึงสถานที่เกี่ยวกับพญานาคอีกแห่งหนึ่ง นั่นก็คือ “สระมุจลินท์” หรือ “สระพญานาค” สระน้ำเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่อดีตกาล ซึ่งเป็นที่เคารพสักการของชาวจังหวัดหนองคายเป็นอย่างยิ่ง โดยตามตำนานเล่าว่า…

หลังจากที่ได้มีพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า มาบรรจุไว้ในองค์พระธาตุ ได้เกิดปรากฏการณ์ประหลาด ที่น่าอัศจรรย์ใจยิ่งนัก โดยจู่ๆก็มีสายน้ำพวยพุ่งออกมาจากพื้นดิน โดยที่ไม่มีสาเหตุ พระมหาเทพหลวงและพระมหาเทพพล พระภิกษุที่ดูแลองค์พระธาตุ ได้สังเกตเห็นว่าสายน้ำที่พุ่งขึ้นมานั้นเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ไม่หยุดเสียที ซึ่งเชื่อว่าบริเวณรูที่น้ำพุ่งออกมานั้น คือปากปล่องพญานาคที่เฝ้าปกปักรักษาพระธาตุบังพวน จึงมีการขุดเป็นสระเพื่อรองรับน้ำที่ออกมาจากปล่องในเวลาต่อมา ซึ่งสระพญานาคนี้ มีการสร้างรูปปั้นพญานาค 7 เศียร ศิลปะสมัยล้านช้าง ไว้กลางสระเพื่อความศักดิ์สิทธิ์และความเป็นสิริมงคลอีกด้วย

ในสมัยพระเจ้าวิชลราช กษัตริย์ล้านช้าง ได้ทรงเสด็จมานมัสการพระธาตุ โปรดให้มีการปรับปรุงสระน้ำแห่งนี้ใหม่และนิมนต์พระคุณเจ้า จัดทำพิธีมหาพุทธาภิเษกขึ้น จากนั้นสระมุจลินท์จึงถือเป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ และมีการนำน้ำศักดิ์สิทธิ์จากสระแห่งนี้ไปใช้ในพิธีสำคัญในราชสำนักล้านช้างนับจากนั้นเป็นต้นมา

ต่อมาในสมัยต่อมา สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช ได้โปรดเกล้าให้สร้างพระพุทธรูปปางนาคปรก 9 เศียร ไว้ในบริเวณใกล้เคียงกันด้วย

สระพญานาคนี้ ถือเป็นสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ประจำจังหวัดหนองคาย ที่มีความสำคัญมาก โดยในสมัยโบราณ เมื่อมีการแต่งตั้งเจ้าเมืองก็จะมีการนำน้ำจากสระนี้ไปสรงเพื่อความเป็นสิริมงคล และในปัจจุบันน้ำในสระแห่งนี้ก็ยังถูกนำไปใช้ในพิธีสรงมูรธราชาภิเษก พิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา และพิธีศักดิ์สิทธิ์อื่นๆที่สำคัญในราชสำนักอีกด้วย

สำหรับผู้ที่มีความเลื่อมใสศรัทธาในพญานาคนั้น พระธาตุบังพวน และสระมุจลินท์ หรือสระพญานาค ก็ถือเป็นอีกสถานที่หนึ่ง ที่ท่านไม่ควรพลาด ที่จะไปสักการะเพื่อเป็นสิริมงคลสักครั้งหนึ่งในชีวิต

จากเรื่องราวข้างต้น จะเห็นได้ว่า มีเรื่องราวของพญานาคเข้ามาเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตและความเชื่อของมนุษย์มาทุกยุคทุกสมัย ซึ่งความเชื่อเหล่านี้ แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ยาก แต่ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ช่วยจรรโลงจิตใจของคนส่วนใหญ่ให้ฝักไฝ่ในด้านดี ด้วยความเชื่อที่ว่า พญานาคเป็นตัวแทนของสิ่งดีงาม ความมีบุญวาสนา ความอุดมสมบูรณ์ และความร่มเย็นเป็นสุข หากใครนับถือพญานาคแล้วจะต้องดำรงตนให้อยู่ในศีลธรรม และต้องปฏิบัติแต่คุณงามความดี จึงจะได้รับสิ่งดีๆตอบแทนนั่นเอง

บทความโดย :เพจ ตำนาน ความเชื่อ ลี้ลับ พญานาค https://www.facebook.com/NagaHistory/

ห้ามคัดลอกไปใช้ก่อนได้รับอนุญาต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad

Responsive Ads Here