สุวรรณนาคาเทพนคร วังนาคินทร์แห่งภาคตะวันออก ของพญาเพชรภัทรนาคราช - Nagahora

Post Top Ad

Responsive Ads Here

วันเสาร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2561

สุวรรณนาคาเทพนคร วังนาคินทร์แห่งภาคตะวันออก ของพญาเพชรภัทรนาคราช

ถ้าหากกล่าวถึงวังนาคินทร์ หรือเมืองแห่งพญานาคนั้น คนส่วนใหญ่คงจะนึกถึงคำชะโนด วังนาคินทร์ แห่งพญานาคาธิบดีศรีสุทโธ เป็นแห่งแรก ซึ่งถือว่าเป็นวังนาคินทร์ที่ใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน และเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ที่เป็นที่เคารพบูชาของคนทั่วไปอย่างมากมายอีกด้วย

แต่ในประเทศไทยนี้ ยังมีวังนาคินทร์อีกที่หนึ่ง ที่หลายท่านอาจยังไม่รู้จัก ซึ่งเป็นวังนาคินทร์ที่ใหญ่ที่สุดของภาคตะวันออก นั่นคือ “วังนาคินทร์สุวรรณานาคาเทพนคร” ซึ่งเป็นวังนาคินทร์ที่สถิตของ องค์พญาเพชรภัทรนาคราชนั่นเอง

พญาเพชรภัทรนาคราช หรือที่รู้จักกันในนาม “พญาเกล็ดแก้วนาคราช” ทรงเป็นพระราชโอรสในพญาอนันตนาคราช และพระนางอุษาอนันตวดีเทวี ทรงอุบัติแบบโอปปาติกะ จากเพชรนพรัตน์จากสร้อยพระศอประจำองค์พระนารายณ์ พญาเพชรภัทรนาคราช ทรงเป็น 1 ใน 9 แห่งจอมกษัตริย์นาคราช ที่ครองนครบาดาล ทรงเป็นพญานาคราชที่ปรีชาสามารทางด้านการรบ จนเลื่องชื่อไปทั้ง 3 โลก ทรงสามารถแผลงพระเศียรได้ 9 เศียร และทรงมีเกล็ดเป็นเพชรสลับกับทองคำ แวววาวสวยงามคล้ายแก้วเจียระไน และเกล็ดเพชรนี่เองที่เป็นที่มาของพระนามของพระองค์

สุวรรณนาคาเทพนคร ตั้งอยู่ที่ วัดหว้าเอน บ้านหว้าเอน ตำบลศรีมหาโพธิ์ อำเภอศรีมหาโพธิ์ จังหวัดปราจีนบุรี โดยวังนาคินทร์แห่งนี้ ตั้งอยู่บนเนินเขาของวัดหว้าเอน ซึ่งเชื่อว่าเนินเขานี้ คือองค์พระวรกายของพญาเพชรภัทรนาคราช แต่ส่วนของพระเศียรนั้นจมหายไปในพื้นดินตั้งแต่สมัยอดีตกาล แต่สาเหตุที่พระเศียรจมหายไปนั้น ยังไม่มีใครทราบได้

ในอดีตดินแดนแห่งนี้ เคยเป็นดินแดนแห่งอารยธรรมอันเรืองอำนาจของอาณาจักรขอมโบราณมาก่อน ซึ่งจะสามารถสังเกตได้จากซากสิ่งปลูกสร้างที่ปรักหักพัง และปราสาทของโบราณที่ยังคงหลงเหลืออยู่นั่นเอง

สุวรรณานาคาเทพนครนี้ เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น หลังจากที่หลวงปู่ดามัญ พระไทยที่ออกธุดงค์ไปอยู่ที่ประเทศกัมพูชา ท่านได้นิมิตเห็นพญาเกล็ดแก้วนาคราช ขณะที่ท่านปักกลดภาวนาอยู่บนสันเขานั่นเอง ในนิมิตนั้น องค์พญาเกล็ดแก้ว ได้ขอให้หลวงปู่ท่านสร้างเศียรให้ 9 เศียร ในลักษณะแผ่พังพาน ต่อจากส่วนลำตัวยาวตลอดแนวสันเขา เพื่อให้ประชาชนคนทั่วไปได้รู้ว่า ดินแดนแห่งนี้นั้นคือวังนาคินทร์ของพระองค์ และมีเหล่าพญานาคราชมากมายสถิตอยู่

หลวงปู่ดามัญ เป็นพระภิกษุสายกรรมฐานของไทย ที่ออกธุดงค์อยู่ในประเทศกัมพูชานานหลายปี จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2544 ขณะที่หลวงปู่ดามัญ ปฏิบัติสมาธิภาวนาตามปกติที่เคยปฏิบัติเป็นประจำ อยู่ภายในถ้ำที่เขาพนมกุเลน ประเทศกัมพูชานั้น ได้เกิดนิมิตเห็น หลวงปู่สรวง สิริปุญโญ หลวงปู่สุข ธมฺมโชโต และปู่ฤๅษีอีกหลายองค์ ซึ่งเป็นครูบาอาจารย์ของหลวงปู่ดามัญ ที่ท่านเคารพนับถือ ท่านเหล่านั้นได้กล่าวว่าให้หลวงปู่ดามัญว่า ให้เดินทางมาที่จังหวัดปราจีนบุรี เพื่อกลับมาดูแลฟื้นฟูสถานที่ที่หลวงปู่ดามัญได้เคยก่อสร้างบ้านเมือง, วัดวาอาราม, ปราสาท ไว้ที่วังนาคินทร์ เมืองสุวรรณนาคาเทพนคร เมื่อครั้งในอดีตชาติ จากนั้นในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2548 หลวงปู่ดามัญ จึงตัดสินใจธุดงค์มาที่ วัดหว้าเอน จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งในขณะนั้นวังนาคินทร์เมืองสุวรรณนาคาเทพนครนั้น ยังมีสภาพเป็นป่ารกร้าง ไม่มีผู้คนอาศัยอยู่บนเนินเขาเลย

เมื่อเดินทางมาถึง ท่ามกลางขุนเขาอันเงียบสงบและรกร้างว่างเปล่า ในคืนแรกหลวงปู่ดามัญจึงปักกลดนั่งเจริยภาวนา ที่บริเวณบ่อน้ำทิพย์บนสันเขานั่นเอง ในตอนกลางคืนขณะหลวงปู่ดามัญปฏิบัติสมาธิภาวนาอยู่นั้น ก็เกิดนิมิต เห็นพญานาคองค์สีเงินแวววาวเหมือนแก้ว ตัวใหญ่มาก มีท่าทางสง่างาม น่าเกรงขาม ได้มาบอกกับหลวงปู่ดามัญว่า ท่านชื่อ พญาเพชรภัทรนาคราช ซึ่งชาวบ้านจะเรียกพญาเกล็ดแก้วนาคราช บนสันเขาที่หลวงปู่ปักกลดอยู่นี้ คือ ส่วนพระวรกายของพระองค์ บริเวณใกล้ๆกับที่ปักกลดนี้ คือบ่อน้ำทิพย์ซึ่งเป็นประตูลงสู่เมืองบาดาล เช่นเดียวกันกับที่เมืองคำชะโนด ขององค์พญานาคาธิบดีศรีสุทโธ

องค์พญาเพชรภัทรนาคราช ทรงบอกกับหลวงปู่ดามัญอีกว่า สำหรับเศียรที่จมลงไปในพื้นดินเมื่อครั้งอดีตกาลนั้น ท่านขอให้หลวงปู่ดามัญเป็นผู้นำในการช่วยสร้างเศียรให้ใหม่ เพื่อให้พระวรกายครบสมบูรณ์ และเป็นที่สักการะของลูกหลานต่อไป

ในการดำเนินการสร้างเศียรพญานาค 9 เศียร ได้มีการดำเนินการสร้างมาตั้งแต่ปี 2551 โดยได้มีญาติโยมมากมาย ได้เดินทางไปร่วมในบุญใหญ่ครั้งนั้น แต่เนื่องจากในการก่อสร้าง ต้องใช้ค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ทำให้เศียรพญานาคราช 9 เศียร ยังไม่ประสบผลสำเร็จตามที่หลวงปู่ดามัญได้นิมิตเอาไว้ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม สุวรรณนาคาเทพนคร แห่งวัดหว้าเอน ก็ยังคงเป็นที่เลื่อมใส ศรัทธาของประชาชนภาคตะวันออก และก็ยังคงเป็นสถานที่สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ของภาคตะวันออกสืบไป

บทความนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของเพจ : ตำนาน ความเชื่อ ลี้ลับ พญานาค เท่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad

Responsive Ads Here