แม่ชีนวล แสงทอง นางชีผู้ที่พญานาคต้องสยบ - Nagahora

Post Top Ad

Responsive Ads Here

วันอาทิตย์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2561

แม่ชีนวล แสงทอง นางชีผู้ที่พญานาคต้องสยบ

ในราวปี พ.ศ. 2448-2453 มีเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง ชื่อว่า "นวล" ได้ถือกำเนิดขึ้นในครอบครัวชาวนายากจน ท่ามกลางเหล่าพี่น้องทั้งหมด 10 คน นวลเป็นพี่สาวคนโต ต่างมารดากับน้องๆ ตั้งแต่รู้ความเด็กหญิงนวลก็มีนิสัยแปลกกว่าคนอื่นๆ คือ ชอบปลีกตัว รักสันโดษ ชอบนั่งสมาธิเจริญภาวนา และชอบเข้าไปเที่ยวในป่า

เมื่ออายุได้ราว 10-11 ปี เด็กหญิงนวลเกิดป่วยหนัก ด้วยโรคฝีที่คอ รักษาอย่างไรก็ไม่หาย วันหนึ่งจึงมีหมอธรรมมาชี้แนะว่า มีผู้เดียวที่จะรักษาเด็กหญิงได้ คือ “ครูบาลุน” แห่งแขวงจำปาศักดิ์ ประเทศลาว นั่นเอง

เมื่อเป็นดังนั้น บิดาของเด็กหญิงนวล จึงได้พาเด็กหญิงเดินทางไปที่ภูมะโรง แขวงจำปาศักดิ์ ขณะนั้นครูบาลุนก็แก่ชรามากแล้ว เมื่อไปพบครูบาลุน ท่านจึงแนะว่า โรคที่เด็กหญิงเป็นนั้นร้ายแรงนัก มีโอสถขนานเดียวที่จะทำให้เด็กหญิงหายป่วยได้ นั่นก็คือ “การบวชรักษาศีล 8 ถือพรหมจรรย์”

หลังจากเด็กหญิงนวลได้บวชเป็นชี ถือศีลภาวนา และทำวัตรปฏิบัติกับครูบาลุน เป็นระยะเวลานานหลายปี ข่าวคราวก็เงียบหาย ไม่มีใครสามารถติดต่อได้ ต่อมาไม่นาน เมื่อครูบาลุนได้มรณภาพไป ชีนวลก็ออกเดินธุดงค์ แสดงหาความวิเวก และความสงบเงียบแต่เพียงผู้เดียวไปเรื่อยๆ ชีนวลเดินธุดงค์ข้ามฝั่งโขงมา จนถึงจังหวัดอุบลราชธานี และปรากฏตัวครั้งแรกที่บ้านนาทม บ้านเกิดของตัวเองในวัย 20 ปี ซึ่งการปรากฏตัวครั้งนี้สร้างความประหลาดใจให้กับชาวบ้านและครอบครัวเป็นอย่างมาก เนื่องจากทุกคนคิดว่า ชีนวล ได้เสียชีวิตไปแล้วนั่นเอง

เมื่อแม่ชีนวล ได้มาพำนักที่บ้านเกิดได้ระยะหนึ่ง ด้วยความที่มีจิตใจไม่รักตัวกลัวตาย ความคิดไม่ต่างจากชาย รักสันโดษ และอยากแสวงหาความสงบให้กับตัวเอง แม่ชีนวลจึงได้ชักชวนเพื่อน แม่ชี 2 คน ออกธุดงค์ไปในป่าบนภูเขา เขตอำเภอโพธิ์ไทร แม่ชีทั้ง 3 ปักกลดบำเพ็ญเพียรอยู่บนเขานั้นนานนับ10วัน จู่ๆก็มีเสือโคร่ง 5-6 ตัว เดินเข้ามาหา ทำท่าทางจะทำร้ายแม่ชีทั้ง 3 เสือตัวหนึ่งท่าทางเหมือนจ่าฝูง เข้ามานั่งจ้องหน้า ยกฝ่าเท้าข้างหนึ่งจะตะปบแม่ชีนวล แม่ชีนวลจึงเอื้อมฝ่ามืออกไปลูบหัวเสือเบาๆ จากนั้นเสือก็เดินหายไป พอรุ่งเช้าเพื่อนแม่ชีนวลคนหนึ่ง ก็เกิดป่วยหนักและเสียชีวิตในที่สุด เนื่องจากการกลัวเสือนั่นเอง

ต่อมา แม่ชีนวล ก็ยังคงเดินธุดงค์ไปเรื่อยๆในทุกๆที่ที่อยากไป โดยเฉพาะที่ไหนที่ชาวบ้านร่ำลือว่าอันตราย รกร้าง หรือมีอาถรรพ์ แม่ชียิ่งดั้นด้นที่จะไปแสวงหาความวิเวกและสัจธรรมแห่งชีวิตที่นั่น

ครั้งหนึ่ง ขณะแม่ชีนวลได้ออกธุดงค์ไปถ้ำแกลบ ซึ่งชาวบ้านรำลือว่ามีอาถรรพณ์และความน่ากลัวแอบแฝงอยู่มาก ถ้ำแกลบอยู่ ในพื้นที่ของอำเภอนิคมคำสร้อย จังหวัดมุกดาหาร เมื่อปี 2472 นั้น บริเวณถ้ำแกลบคือ ป่าดงดิบรกทึบ น่าสะพรึงกลัวเป็นที่สุด ชาวบ้านละแวกนั้นไม่กล้าออกไปหาของป่า หรือไปทำอะไรอยู่บริเวณถ้ำแกลบเลย ด้วยมีคนเคยเห็นงูขนาดยักษ์เลื้อยเข้าออกปากถ้ำบ่อย ๆ

เมื่อชาวบ้านเห็นแม่ชีนวลเดินธุดงค์มา และบอกความประสงค์ว่า จะขึ้นไปปฏิบัติธรรมอยู่ถ้ำแกลบ ชาวบ้านก็ตกใจพากันห้ามปรามทัดทานเอาไว้ แต่ไม่สำเร็จ ไม่สามารถเปลี่ยนใจแม่ชีนวลได้ แม้แต่จะเดินทางไปส่งแม่ชีที่ถ้ำแกลบ ก็ยังไม่มีใครกล้าไป ทำได้เพียงแต่อธิบายบอกทางและวิธีไปถึงหน้าถ้ำเท่านั้น

หลังจากแม่ชีนวลเดินขึ้นถ้ำแกลบแล้ว ก็หายเงียบไปเป็นเวลาแรมเดือน โดยไม่เคยมีใครได้ข่าวหรือเห็นแม่ชีกลับลงมาที่หมู่บ้าน หรือมาหาเสบียงอาหารเลยแม้แต่ครั้งเดียว ชาวบ้านทั้งหลายเริ่มวิพากษ์วิจารณ์ด้วยความรู้สึกนึกคิดไปในประการต่างๆ ทั้งประหลาดใจและห่วงใยแม่ชีนวลซึ่งอายุก็ยังน้อยอยู่ จนในที่สุดชาวบ้านประมาณ 10 คน จึงรวมตัวกันและตัดสินใจเดินทางไปที่ถ้ำแกลบ เพื่อไปดูว่าแม่ชีนวลมีชีวิตอยู่หรือไม่ เป็นอย่างไรบ้าง

เมื่อไปถึงถ้ำแกลบ ทุกคนก็ตกตะลึงพรึงเพริด ขนลุกขนชันแทบคุมสติไม่อยู่ ตรงปากถ้ำนั้นมีงูขนาดใหญ่ ลำตัวสีขาว หงอนสีแดง ดวงตาสีแดงก่ำ กำลังเกี้ยวรัดลำตัวของแม่ชีนวลเอาไว้ จนเหลือให้เห็นแค่ใบหน้าและศีรษะเท่านั้น เมื่อเห็นดังนั้น ชาวบ้านทุกคนจึงเข้าใจไปว่าแม่ชีนวลคงจะเสียชีวิตไปแล้ว ก็พากันเผ่นหนีกลับลงมายังหมู่บ้าน และเล่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้เห็นให้คนทั้งหมู่บ้านฟัง เรื่องราวนี้ได้แพร่สะพัดมาจนถึงครอบครัวของแม่ชีนวล จากนั้นทุกคนก็สรุปไปเองว่า แม่ชีนวลคงตายไปแล้วอย่างไม่ต้องสงสัย

หลังจากนั้นอีก 2 วัน ชาวบ้านทั้งหลายก็มีอันต้องตกตะลึงอีกครั้ง เมื่อได้เห็นแม่ชีสาวเดินกลับลงมาจากถ้ำแกลบถึงหมู่บ้านโดยปลอดภัย ไม่มีอันตรายใดๆ ทั้งยังบอกแก่ชาวบ้านว่า... “ไม่ต้องกลัวท่านพญานาคนั้นหรอก เพราะว่าท่านเป็นพญานาคมีศีลและปฏิบัติธรรมด้วย ขอเพียงให้ชาวบ้านเราทุกคน เมื่อจะขึ้นเขาหาของป่าหรือเข้าใกล้บริเวณนั้น ให้พากันบอกกล่าวท่านก่อน ให้เรียกชื่อท่านว่า พญานาคคำขาว แล้วทุกคนจะปลอดภัย ไม่มีอันตราย หากินก็จะง่าย”

เมื่อได้ยินดังนั้น ชาวบ้านทุกคนก้มกราบแม่ชีนวลด้วยความศรัทธาเลื่อมใส และเรื่องราวนี้ก็ถูกกล่าวขวัญ และมีการบอกเล่าสืบต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้

เมื่อบิดาของแม่ชีนวลทราบเรื่องราวต่างๆ ก็เกรงกลัวว่าแม่ชีจะเป็นอันตรายถึงชีวิต เนื่องด้วยความไม่รักตัวกลัวตาย อาจหาญเดินป่าธุดงค์ไปเรื่อยๆคนเดียวเยี่ยงผู้ชายนี่เอง บิดาของแม่ชีจึงออกอุบาย ขอร้องให้แม่ชีมาช่วยทำนา และดูแลน้องๆ จากนั้นด้วยความสงสารบิดา แม่ชีจึงออกมาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการช่วยเหลือดูแลครอบครัวนั่นเอง

พอถึงช่วงเวลาหนึ่ง เมื่อเข้าสู่วัยสาวเต็มตัว แม่ชีนวลก็ตัดสินใจมีครอบครัว โดยมีชายหนุ่มมาหลงรักและขอแต่งงานด้วย แม่ชีนวลได้กำหนดข้อแม้ว่า ถ้าจะแต่งงานกับฉันก็ได้ แต่ต้องรับว่ามี 2 ข้อที่ฉันจะขอเอาไว้คือ “หนึ่งฉันจะไม่เข้าครัวทำอาหารให้กิน สองฉันจะไปจากบ้านกับพระกับเจ้า ไปธุดงค์ จำศีลเมื่อไหร่ก็ไม่จำเป็นต้องบอก” ชายหนุ่มผู้นั้นซึ่งก็คือ นายอาจ ผลทวี ก็ยอมรับข้อตกลงนี้ แม่ชีนวลได้ใช้ชีวิตแต่งงานอยู่กับสามีนานพอสมควร จนมีลูกด้วยกัน 4 คน จากนั้นจึงขอลาสามีออกบวชชี และบวชเรื่อยมาจนถึงวัยชรา

เรื่องราวความน่าพิสดาร ของแม่ชีนวลนี้มีมากนัก ขนาดที่หลวงปู่คำพันธ์ได้เห็นแม่ชีนวลครั้งแรก ยังแสดงอาการผงะและออกปากว่า “ยายชีผู้นี้ไม่ใช่เล่น เป็นคนมีวิชาเต็มตัว” ซึ่งก็จริงตามนั้น เพราะว่าแม่ชีนวลมีลูกศิษย์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นโยม หรือพระต่างก็กราบไหว้ และเคารพนับถือ ทั้งยังเป็นที่พึ่งของคนทุกข์ใจทุกข์กายมาโดยตลอด แต่ถึงแม้ว่าแม่ชีนวลนั้น จะเป็นผู้ที่เก่งกล้า ไปด้วยคาถาอาคมซักแค่ไหน แต่ท่านเองก็ไม่เคยคุยโว หรืออวดอ้างสรรพคุณของตนแต่อย่างใด เมื่อมีคนถามเรื่องนี้ ท่านมักตอบสั้นๆว่า “บ่ฮู่ บ่จัก” ซึ่งหมายความว่า “ไม่รู้ ไม่ทราบ” นั่นเอง

แม่ชีนวลนั้น บวชเป็นชีจนย่างเข้าสู่วัยชรา จนกลายเป็นยายชีอายุร้อยกว่าปี พำนักอยู่เพียงลำพังคนเดียวในวัดภูฆ้องคำ ตำบลแก่งเค็ง อำเภอกุดข้าวปุ้น จังหวัดอุบลราชธานี จากที่วัดนี้เป็นวัดรกร้าง ไม่มีแม้แต่พระหรือเณรมาจำวัด แต่ยายชีนวล ก็ได้เป็นผู้บุกเบิกและพัฒนาจนวัดภูฆ้องคำ ได้กลายเป็นสถานที่แหล่งธรรมมะ และที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดอุบลราชธานี มีญาติโยม ลูกศิษย์ลูกหามากมายหลั่งไหลมาทำบุญไม่ขาดสาย

ในบั้นปลายของชีวิต แม่ชีนวลได้ใช้ชีวิต ถือศีล ภาวนา อย่างสงบ ณ วัดภูฆ้องคำที่ท่านรักนี่เอง และได้ถึงแก่อสัญกรรมอย่างสงบ เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2554 ท่ามกลางความอาลัยของครอบครัว ลูกหลาน และเหล่าลูกศิษย์ลูกหามากมาย สิริรวมอายุได้ 106 ปี กับการใช้ชีวิตบนเส้นทางธรรมมะ เพื่อช่วยเหลือผู้คน ยายชีผู้เป็นกำลังสำคัญ ในค้ำจุนและจรรโลงพระศาสนาให้ยั่งยืนสืบไป

เรียบเรียงโดย : เพจ ตำนาน ความเชื่อ ลี้ลับ พญานาค

ห้ามคัดลอกไปเผยแพร่ โดยไม่ได้รับอนุญาต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad

Responsive Ads Here